

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแสดงความยินดีกับแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทแม่ผู้เป็นเกษตรกร จำนวน 15 ท่าน ที่จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 ในวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯซึ่งจัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นแม่แห่งชาติ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่พระคุณและบทบาทของแม่ที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติและเพื่อยกย่องแม่ดีเด่น และลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ โดยรายชื่อและผลงานของแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทแม่ผู้เป็นเกษตรกร ประจำปี 2566 ประกอบด้วย
1. นางนิยม อยู่สนอง อายุ 54 ปี จังหวัดลพบุรี แม่เกษตรกรที่มีความขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพการเกษตร และใช้พื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทำแปลงโคกหนองนาโมเดลในรูปแบบเกษตรผสมผสาน โดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

2. นางกนกวรรณ ช้างน้อย อายุ 54 ปี จังหวัดสระบุรี น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นต้นแบบและพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ให้คนในชุมชนและนอกชุมชนศึกษาดูงาน สนับสนุนและส่งเสริมให้ลดต้นทุน และปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

3. นางผกามาส ไทยนุกูล อายุ 69 ปี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และวิทยากรการศึกษานอกโรงเรียน สนับสนุนให้สตรีในภาคเกษตรมีอาชีพและมีรายได้ในครัวเรือนและยังปลูกฝังบุตร ทั้ง 2 คน ให้ดำเนินชีวิตถูกต้องตามทำนองครองธรรม ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว มีความกตัญญู มีหน้าที่การงานที่ดี

4. นางตันหยง สุขเกษม อายุ 57 ปี จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวสวนมะพร้าวที่ให้ความสำคัญกับอาชีพของบรรพบุรุษที่ตกทอดมา เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนเองอยู่เสมอ ยึดมั่นในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นผู้นำในการรวมกลุ่มทางด้านการเกษตร เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

5. นางสาวสุรีรัตน์ ผลพฤกษา อายุ 62 ปี จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้มีความเสียสละ ทำงานเพื่อสังคมและชุมชน มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เป็นผู้นำชุมชนในด้านต่างๆ ถ่ายทอดความรู้และแนะนำให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ให้ความรู้ในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย สามารถลดต้นทุน ลดรายจ่าย ส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน

6. นางรุ่งฤดี ศรีโภคิโยปกรณ์ อายุ 54 ปี จังหวัดนครนายก เป็นผู้มีความประพฤติดี เป็นตัวแทนของหมู่บ้าน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ เป็นต้นแบบในงานส่งเสริมการเกษตร และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน และสนับสนุนให้คนในชุมชนประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

7. นางมะลิวัลย์ สารพัฒน์ อายุ 62 ปี จังหวัดสกลนคร สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ปี 2566 และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ให้ที่ดินส่วนตัวเป็นที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) ของอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจในการแปรรูปข้าว เข้ามาศึกษาเรียนรู้ กระบวนการ วิธีการในการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

8. นางปรารถนา อุ่นจิตต์ อายุ 53 ปี จังหวัดบุรีรัมย์ ทำนาปลอดสารเคมี และเป็นจุดเรียนรู้และปฏิบัติ สาธิตการทำนาอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย และเป็นผู้นำในการให้ความรู้กระบวนการทำนาตั้งแต่การเตรียมดิน การหว่านข้าว การปักดำ การจัดการวัชพืช ศัตรูพืช ตลอดถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป

9. นางวงษ์เดือน ศรีคุ้ม อายุ 57 ปี จังหวัดขอนแก่น กำนันตำบลวังแสง ได้เสียสละที่ดินส่วนตัว จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนโครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น” เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้คนในชุมชน

10. นางปราณี ช่วยมณี อายุ 63 ปี จังหวัดสงขลา Smart Farmer ต้นแบบด้านการทำนา และมีความเสียสละในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชมหลายๆ ด้าน อาทิ เป็นเกษตรกรต้นแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสทิงพระ (ศพก.) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และรองประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าหิน

11. นางปริศนา สุวรรณศักดิ์ อายุ 63 ปี จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นกรอบแนวคิดเพื่อพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำการเกษตรปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แบบครบวงจรและศูนย์จัดการดินปุ๋ยตำบลโละจูด

12. นางปรานิต ศรีโสภา อายุ 58 ปี จังหวัดระนอง ยึดมั่นการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ปรึกษาด้านการทำงานการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาจนลูกประสบความสำเร็จ

13. นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ อายุ 64 ปี จังหวัดนครสวรรค์ ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาหินกลิ้ง เพื่อเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ลดต้นทุนการผลิตให้กับการผลิตข้าวในชุมชน และยังเป็นผู้นำในการรวบรวมสมาชิกผู้ปลูกข้าว พัฒนาสร้างเครือข่าย ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตข้าวของชุมชน

14. นางฉวี โพธิ์วัด อายุ 58 ปี จังหวัดพิจิตร ปลูกส้มโอพันธุ์ท่าข่อย และส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา โดยได้รับมาตรฐาน GAP และ GI ส้มโอท่าข่อย เมืองพิจิตร และมุ่งเน้นการแปรรูปส้มโอท่าข่อยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เปลี่ยนพื้นที่บ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านไม้ผลให้เกษตรกรทั้งในชุมชนและนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้

15. นางลมัย พุ่มกลิ่น อายุ 53 ปี จังหวัดอุทัยธานี ทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน เป็นประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร และต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการลดต้นทุนการผลิตให้กับคนในชุมชนและผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงาน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทแม่ผู้เป็นเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาคัดเลือกจากเกษตรกรที่ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรตามลำดับจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเกษตรกรจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเป็นแม่ที่ดี ประพฤติดี มีสุขภาพดี ซื่อสัตย์สุจริต มีครอบครัวเป็นที่ยอมรับ และเป็นแบบอย่างของสังคม เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เป็นผู้นิยมและรักษาเอกลักษณ์ของไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนเป็นที่ยอมรับ มีความซื่อสัตย์สุจริต อบรมเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่ ด้วยความมานะอดทน ทำให้ลูกได้รับการศึกษา มีอาชีพที่สุจริต มีความประพฤติดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม