นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการวิจัยโครงการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (ระยะ 5 ปี) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน และ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง สร้างแบบจำลองการประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง และพัฒนาลำดับการประมวลผลเป็นฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติ รวมทั้งจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ใช้ในการขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคม โดยได้ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี และจังหวัดกำแพงเพชร วัตถุประสงค์เพื่อบ่งชี้สภาวะความแห้งแล้ง (DSI) โดยทำการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชตามสถานการณ์เอลนีโญ (El Nino) ลานีญา (La Nina) และสถานการณ์ปกติ (Neutral) ผลจากการประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง (CDAI) พบว่า แบบจำลองสามารถบ่งชี้ความเสียหายของพืชจากภัยแล้งได้มากกว่าร้อยละ 75 โดยทดสอบกับแปลงที่เคยเสียหายในอดีต ในแปลงอ้อย มีความถูกต้อง (ร้อยละ 92.9) ข้าว ร้อยละ (81.9) ข้าวโพด (ร้อยละ 77.7) และ มันสำปะหลัง (ร้อยละ 73.7) โดยข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจใน Application “เช็คแล้ง” ที่ทางโครงการฯ ได้พัฒนาขึ้นมาต่อไป
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยพัฒนาโครงการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง (ระยะที่ 1) จะช่วยให้กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถบ่งชี้/ประเมินสภาวะแห้งแล้งของพื้นที่การเกษตร และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจวางแผนส่งเสริมการเกษตร วางแผนให้ความช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ งานอารักขาพืช งานบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรช่วงฤดูแล้งได้ และในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินโครงการ (ระยะที่ 2) อย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจำนวนแปลงในการพัฒนาแบบจำลองและทดสอบเพื่อการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงจะได้มีความถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้งาน Application “เช็คแล้ง” ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน (https://cropsdrought.gistda.or.th) และโมบายแอปพลิเคชัน (ระบบ AOS และ iOS) เพื่อใช้ประเมินสภาวะแห้งแล้งของพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง วางแผนการสำรองน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอ และลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น
*************************
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : ข้อมูล
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : จิราพัชร์, ข่าว