

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นความสำคัญ
ในการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนจากทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นถิ่น โดยส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่นของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต การแปรรูป การพัฒนาสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรด้านพืชและสมุนไพร การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานเกษตรกรรมและฐานทรัพยากรชีวภาพ ยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรฐานชีวภาพต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรชีวภาพที่มีมูลค่าสูงขึ้น จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ ด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากฐานชีวภาพต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามแนว BCG ตลอดจนพัฒนาทักษะการส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรแปรรูปยุคใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินงานส่งเสริมการตลาดให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชน 84,204 แห่ง สมาชิก 1,470,462 ราย และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 618 แห่ง สมาชิก 15,731 ราย (ข้อมูล 20 ธันวาคม 2566) โดยวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ ร้อยละ 10.58 (ข้อมูลปี 2566)
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการดำเนินงานที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลงานวิจัยมาใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ และมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนเกษตร ประกอบกับในปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนมีความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานและติดอาวุธทางปัญญา สามารถทำงานและดำเนินโครงการบรรลุตามเป้าหมายของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในหมุดหมายที่ 7 SMEs วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน





