ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความท้าทายจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร บนพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยยังคงประสบปัญหามากมาย ทั้งราคาผลผลิตที่ขาดเสถียรภาพ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรที่ยังอยู่ในระดับสูง และสถาบันเกษตรกรยังขาดความเข้มแข็ง
จากสภาพปัญหาและผลกระทบที่กล่าวมา นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายยกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพเกษตรกร ผ่านการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการบูรณาการแผนงานและงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานสำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่าง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ในระดับพื้นที่ (ตำบล) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูง ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและสร้างคุณค่า ต่อยอดเป็นสินค้าเกษตรโภชนาการมูลค่าสูงต่อไป
นายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์
“สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีกรอบแนวทางการขับเคลื่อน คือ การพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น การส่งเสริมการผลิตอาหาร Future Food และ Function Food การบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อนำงานวิจัยสู่การถ่ายทอด และส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
“ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการในระดับพื้นที่สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ทำงานภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด หา Pain Point ของเกษตรกรที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ พร้อมจัดเก็บข้อมูลในเชิงการวิเคราะห์ทางวิชา การวิเคราะห์ ดิน น้ำ เพื่อประเมินคุณภาพ และให้สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ตรงประเด็น โดยมีผลทางวิชาการเป็นหลักฐานรองรับ” เกษตรจังหวัดจันทบุรี เผย
โดยหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในโครงการ สินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ อย่าง วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏ ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดใน อ.เขาคิชฌกูฏ และอำเภอใกล้เคียง ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ซึ่งปัจจุบันวิสาหกิจฯ แห่งนี้ได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง มีจำนวนสมาชิกกว่า 70 ราย ถือเป็นต้นแบบของการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง
นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ ฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏ เล่าย้อนถึงที่มาของการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ว่า เดิมทีพื้นที่ชุมชนนี้มีการปลูกไม้ผลอื่นๆ ผสมผสานกันไป ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ราคาผลไม้ตกต่ำ โดยหนึ่งในผลไม้ที่ราคาตกต่ำมากที่สุด คือ มังคุด และนั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้น
“ด้วยสภาพภูมิประเทศในบริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เวลาฝนตกหนักก็จะมีน้ำขัง ซึ่งหากปลูกต้นทุเรียน หรือไม้ผลอื่นๆ ก็อาจทำให้ตายได้ แต่ถ้าปลูกต้นมังคุดซึ่งเป็นพืชที่มีความสามารถในการทนแล้งและทนน้ำขังได้นาน ทำให้คนในชุมชนนิยมปลูกมังคุดเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเกษตรกร ทั้งปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ค่าจ้างแรงงานด้านการเกษตร
“พวกเราเลยมีแนวคิดว่า ควรจะรวมกลุ่มในการพัฒนาสินค้าและผนึกกำลังร่วมกันขายมังคุด เพื่อผลักดันราคาและก่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองเจรจาการค้ามากยิ่งขึ้น โดยเรามีการพัฒนาเรื่องตลาด ด้วยการใช้ระบบประมูล ไม่ใช่การเหมาสวน หรือขายผลผลิตให้พ่อค้ารายใดรายหนึ่ง ซึ่งวิสาหกิจของเราถือเป็นโมเดลต้นแบบที่สำคัญของการทำแปลงใหญ่มังคุดใน จ.จันทบุรี” นายพิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ตั้งแต่ปี 2559 และต่อมาในปี 2560 ได้มีการสร้างแบรนด์ของกลุ่มภายใต้ชื่อ KMK (Krathing Mangosteen Khaokhitchakut) และมีการดำเนินการจัดประมูลมังคุดขึ้นเป็นแห่งแรกใน จ.จันทบุรี
เรียกได้ว่าการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรและผลผลิตมังคุดในภาพรวม ทำให้เกษตรกรเกิดการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น สามารถสร้างอำนาจในการต่อรองราคา สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถขายผลผลิตได้ทุกเกรดคุณภาพ มีกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และมีการแบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดและยกระดับผลผลิตของเกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏให้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร ก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยมีการเสนอแนวทางการจัดทำแผนต่างๆ ทั้งแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรระดับหมู่บ้านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และแผนการผลิตที่สามารถเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด รวมถึงจัดทำแผนธุรกิจเกษตรในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
“สำหรับแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏนั้น เดิมทีกลุ่มเรามีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการประมูลอยู่แล้ว แต่เพื่อให้มูลค่าของผลผลิตสูงขึ้น เราจึงได้นำผลผลิตที่ไม่ดี หรือตกเกรด นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้ในสวนมังคุดและแจกจ่ายชาวบ้าน เพราะโจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าตกเกรดสามารถสร้างมูลค่าได้
“ขณะเดียวกันเรายังพยายามเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทย เพื่อค้นคว้าหางานวิจัยนำมาปรับใช้ในการพัฒนาและต่อยอดผลผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยจากการดำเนินงานทั้งหมดนี้ เพื่อทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า มังคุดของเรามีคุณภาพ เพราะเราใส่ใจตั้งแต่การผลิต การคัดเกรด การขนย้าย ตลอดจนกระบวนการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพส่งถึงมือผู้บริโภค” ฝ่ายการตลาดของแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏ เผย พร้อมบอกอีกว่า
สิ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ กลุ่มของเรามีการคัดเกรดมังคุดตามความต้องการของตลาด สามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดส่งออก ตลาดภายในประเทศ ตลาดออนไลน์ ตลาดพรีเมี่ยม รวมถึงตลาดแปรรูป และที่สำคัญเป้าหมายสูงสุดของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏ คือ ในอนาคตเราอยากจะเป็นล้งสำหรับชุมชน เพราะปัจจุบันเราเป็นเพียงพื้นที่สำหรับใช้ประมูลขาย ซึ่งหากเราได้เป็นล้งคิดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฏ ที่ร่วมกันผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ ทำให้วันนี้วิสาหกิจฯ แห่งนี้สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาราคามังคุดที่เคยตกต่ำ จนสามารถเดินหน้ายกระดับผลผลิตสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีผลผลิตที่มีคุณภาพ และส่งต่อสิ่งดีๆ แก่ผู้บริโภคต่อไป