‘จังหวัดน่าน’ แหล่งผลิตกาแฟคุณภาพระดับพรีเมียมและเป็นแหล่งปลูกกาแฟสำคัญอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ด้วยรสชาติที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ราคาจับต้องได้ รวมถึงกรรมวิธีการปลูกกาแฟในป่าควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน ส่งผลให้กาแฟ จ.น่าน กลายเป็นที่นิยมของคอกาแฟเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ภาพรวมปัจจุบันของตลาดกาแฟ พบว่า ตลาดกาแฟพรีเมียมราว 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น ‘กาแฟพิเศษ(Specialty Coffee)’ ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 10 ของตลาดทั้งหมด ดังนั้น หากมองในมุมมองการเติบโตของตลาดกาแฟไทย จึงเป็นโอกาสดีของ ‘กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน’ ที่จะลงสนามแข่งขัน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคง
เปิดประตู สู่ ‘บ้านมณีพฤกษ์’
นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีวิชัย เกษตรจังหวัดน่าน เผยว่า ย้อนไปเมื่อปี 2560 สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าไปพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ โดยใช้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จนพัฒนากลายเป็น ‘แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์’ ด้วยเหตุนี้ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ จึงเลือกแปลงใหญ่ฯ เป็นต้นแบบพัฒนาให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการ ตลอดจนด้านการตลาด
ปัจจุบัน มุ่งขับเคลื่อน 3 ด้าน ประกอบด้วย คน ผ่านการส่งเสริมความรู้ความสามารถทั้งประธานแปลงใหญ่ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อเป็นต้นแบบผลิตและแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ – สร้างแบรนด์ รวมถึงพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ให้มีแนวคิด – ทักษะที่พร้อมสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าที่มีอยู่ เมื่อผนวกกับการมีเกษตรกรต้นแบบมากประสบการณ์ด้านกระบวนการผลิตกาแฟคุณภาพ โดยเฉพาะ Specialty Coffee ส่งผลให้สินค้าของกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
สินค้า นำโดย Specialty Coffee ไม่ว่าจะเป็น Java, Typica, Syrina,Yellow Bourbon, Geisha และ Catimor ที่ได้รับการยอมรับในวงการกาแฟและผู้บริโภค ทั้งนี้ หลังจากได้รับงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด รวมถึงนวัตกรรม อุปกรณ์ในกระบวนการผลิตกาแฟที่ทันสมัย ภายใต้ ‘โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ส่งผลให้กำลังการผลิตกาแฟเพิ่มสูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น การันตีด้วยรางวัลจากเวทีประกวดกาแฟทั่วประเทศ อาทิ Thailand Coffee Fest, Thai Specialty Coffee Awards และการประกวดสุดยอดกาแฟไทย (กรมวิชาการเกษตร) ฯลฯ
พื้นที่ แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 – 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล เหมาะสำหรับการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า โดยเฉพาะ Geishe : Specialty Coffee สุดยอดสายพันธุ์กาแฟอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าจำหน่ายถึงกิโลกรัมละ 8,000 บาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาเป็นการปลูกกาแฟและทำเกษตรแบบผสมผสาน ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอีกทางหนึ่ง
พัฒนาต้นน้ำ – ปลายน้ำ
เกษตรจังหวัดน่าน เผยอีกว่า สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ส่วนใหญ่สามารถผลิตกาแฟและจำหน่ายเป็นกาแฟเชอร์รี่ ซึ่งอยู่ในกระบวนการผลิตต้นน้ำเท่านั้น สามารถจำหน่ายกาแฟเชอร์รี่คุณภาพ ในราคากิโลกรัมละ 28 บาท ทว่ายังขาดการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนกลางน้ำโดยหากแปรรูปเป็นกาแฟสารจะสามารถจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 – 250 บาท และเมื่อเกษตรกรสามารถแปรรูปไปจนถึง “กาแฟคั่ว” เพื่อจำหน่ายในขั้นตอนปลายน้ำจะสามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 1,000 – 8,000 บาท ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแนวทางเพื่อสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทั้งการเพิ่มปริมาณและสัดส่วน Specialty Coffee การพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรม – เทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนการสร้างอัตลักษณ์ – แบรนด์ Specialty Coffee รวมถึงการพัฒนาโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ปัจจุบัน เกษตรกรแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์มีรายได้เฉลี่ยสุทธิ 13,347.33 บาท คาดว่าในปี 2570 รายได้เฉลี่ยสุทธิของเกษตรกรจะเพิ่มเป็น 40,100 บาท/ครัวเรือน (เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี) รวมถึงเกษตรกรสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ สามารถกำหนดราคาจำหน่ายเองได้ และล่าสุด สำนักงานเกษตร จ.น่าน ยังนำเสนอแนวทางสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 460,000 กว่าไร่ โดยส่งเสริมการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างรายได้มั่นคงควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทางรอดคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายวิชัย กำเนิดมงคล ประธานกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน เล่าว่า นับตั้งแต่ปี 2555 ภูเขาหัวโล้นเป็นปัญหาหลักและต้องร่วมหาแนวทางแก้ไข โดยมีโจทย์หลักคือ ‘หมู่บ้านมณีพฤกษ์’ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่า มีแร่ธาตุโพแทสเซียมค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการปลูกผลไม้ เนื่องจากเป็นธาตุที่สร้างแป้งและน้ำตาล ประกอบกับพื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 – 1,400 เมตร ผนวกกับมีอากาศเย็น ฝนตกตลอดทั้งปี ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘กาแฟบ้านมณีพฤกษ์’ ที่ตอบโจทย์คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ มีกาแฟสายพันธุ์ดังจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น Geisha สายพันธุ์ที่มีกลิ่นผลไม้ ดอกไม้ เบอร์รี ซึ่งหากมีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างด้วยกัน กาแฟจะมีมิติรสชาติค่อนข้างซับซ้อน (Complex) และหายาก ส่งผลให้ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ต่อมาคือ Java สายพันธุ์ที่มีกลิ่นเหมือนดอกไม้ เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของอาราบิก้า และ Syrina สายพันธุ์นี้จะโดดเด่นเรื่องความเปรี้ยว ความหวานที่จัดจ้าน รวมถึงมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังมี Typica, Yellow Bourbon และ Catimor ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปและการตลาด ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดหวัง ดังนั้น เมื่อทางสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ฯ จวบจนปัจจุบัน ทั้งด้านงบประมาณ เครือข่ายเพื่อจำหน่ายกาแฟ รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปจนถึงการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ส่งผลให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ซึ่งปีนี้สามารถผลิตกาแฟเชอร์รี่ ได้มากถึง 20 ตัน ส่วนรายได้ของสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่เฉลี่ยปีละ 2 แสนบาท
“การที่อยู่เพียงตัวคนเดียวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การรวมกลุ่มเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันจะสร้างพลังให้เกิดการขับเคลื่อนได้มาก จึงอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันและร่วมมือด้วยความจริงใจ พร้อมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน เพื่อเป็นทางรอดของคนบนดอยให้อยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน” นายวิชัย ทิ้งท้าย