นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้วางเป้าหมายร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส มีเป้าหมายที่จะบรรลุลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแผนการมีส่วนร่วมได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ไว้ที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งภาคเกษตรกรรมถูกกำหนดให้เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Climate Smart and Regenerative Agriculture) ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนต่าง ๆ เช่น ต้นทุนเอกชน ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ในการผลิต และต้นทุนสังคม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการผลิตสินค้านั้น ๆ เช่นการปล่อยควันพิษ การปล่อยน้ำเสีย เป็นต้น
ตลอดจนการสร้างและพัฒนาระบบอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและโภชนาการของมนุษย์ ลดการทำลายและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) เป็นการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่ดีขึ้น การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจะรับประกันให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์จากการเติบโต และการสร้างโอกาสอย่างเสมอภาค สร้างรายได้สุทธิที่พอเพียงกับรายจ่ายครัวเรือนตลอดทั้งปี และมีสัดส่วนการออมการลงทุนที่สร้างความมั่นคงด้านการเงินครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้
นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางการสร้างให้บุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีทักษะสำคัญด้าน Growth mindset and Anti fragile, Learning Skills, Finance Skills, Digital Skills, ESG Literacy เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สามารถแก้ไขปัญหา ก้าวข้ามความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยกำหนดเป้าหมายความสำเร็จร่วมกันที่สามารถวัดผลได้ ประกอบด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้ประจำที่มั่นคง มีผลผลิตเกษตรอย่างต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์จากการออมและการลงทุนที่เหมาะสมต่อเนื่อง
ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและมีสุขภาวะที่ดีจากการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหาร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี กระจายความมั่งคั่งสู่ทุกเพศทุกวัยทุกคน การดำรงอยู่ของประเพณีวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน สุขภาวะ และยกระดับรายได้ภาครัฐเพื่อการพัฒนาระบบอาหารจากฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำร่องเพื่อสร้างต้นแบบการขับเคลื่อนโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscape in Thailand : ISRL) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดอุบลราชธานีซึ่ง นอกจากการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความเข้มแข็งกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อการเกษตรและความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม กลไกหลักในการขับเคลื่อนคือ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” ด้วยการเพิ่มบทบาทสตรีในภาคการเกษตรให้เด่นชัดขึ้น
โดยเชื่อมโยงกิจกรรมตามบทบาทภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น การแปรรูป การพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผ่านการอบรมให้ความรู้ และพัฒนาทักษะการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างอาชีพ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร การทำเกษตรแบบผสมผสานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังการทำนา เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วแระ ถั่วลิสง และพืชผัก
การสร้างหมอพืชชุมชน เพื่อการจัดการพืชหมุนเวียนร่วมกับนาข้าวเชิงภูมิทัศน์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการหยุดเผาเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงนาหรือแปลงพืชไร่อื่น เพื่อลดมลพิษและการทำลายระบบนิเวศ
ส่งเสริมการทำนาขั้นบันได ด้วยการขุดปรับพื้นที่สภาพไร่ ซึ่งเคยใช้ปลูกข้าวไร่หรือพืชไร่อื่นๆ ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่นา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว และสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูง ส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การจัดการดินและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานแบบองค์รวม ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชในนา เป็นต้น
โดยจะร่วมมือกับ GIZ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พัฒนากระบวนการผลิตในพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ พื้นที่ต้องทำการฟื้นฟูร่วมกับองค์ประกอบของการปลูกป่า และพืชหมุนเวียนได้มากกว่า 187,500 ไร่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรไทยได้มากถึง 3.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตรได้มากถึง 100 เมตริกตันภายในปี พ.ศ. 2570