นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากสถานการณ์พายุฝนที่ตกหนัก เกิดน้ำป่าไหลหลาก ปริมาณน้ำล้นตลิ่งและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนในภาคใต้ ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงในขณะนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีน้ำท่วมอีกหลายจังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นต้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ จึงสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้อย่างเร่งด่วน
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมอบหมายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ออกสำรวจพืชและพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนพันธุ์พืชผักเพื่อสร้างแหล่งอาหารภายในครัวเรือนและสร้างรายได้หลังน้ำลด ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่เกษตรกร พร้อมให้คำแนะนำ ฟื้นฟู การดูแลรักษาพืชแก่เกษตรกรโดยเฉพาะสวนไม้ผลในช่วงฤดูฝนที่เกิดน้ำท่วมขัง จนกระทั่งภายหลังน้ำลดให้กลับคืนสู่สภาวะเดิมโดยเร็ว ดังนี้
1. การจัดการสวนไม้ผลในช่วงฤดูฝน ควรตัดแต่งกิ่งที่อาจหักได้ง่าย เพราะหากปล่อยให้มีกิ่งก้านหนาทึบเกินไป จะทำให้กิ่งไม้หักหล่นลงมาสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินบ้านเรือนหรือร่างกายได้ กรณีต้นไม้ปลูกใหม่ต้องค้ำพยุงเพื่อให้ยึดเกาะดินและไม่โอนเอนไปตามแรงลมจนถึงขั้นหักล้ม ทำเนินดินเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคน และทำระบบระบายน้ำจากบริเวณรอบโคนต้น เพื่อให้น้ำฝนที่ตกลงมาระบายออกให้เร็วที่สุด ใช้สารป้องกันพร้อมดูแลรักษาต้นให้ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะเชื้อรา พรวนดินเพื่อให้ผิวดินแห้งและให้รากระดับหน้าดินได้รับออกซิเจน จากนั้นใส่ปุ๋ยพรวนดินให้ดินกลบปุ๋ยก่อนที่น้ำฝนจะมาชะล้างปุ๋ยไปจนหมด
2. การจัดการสวนไม้ผลระหว่างน้ำท่วมขัง สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นพิเศษ คือ ทำอย่างไรให้สวนไม้ผลกลับคืนสภาพเดิมเร็วที่สุด และกระทบกระเทือนต่อต้นน้อยที่สุด เพราะสวนที่ถูกน้ำท่วมอยู่เสี่ยงต่อความเสียหายได้ง่าย สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก คือ เร่งระบายน้ำออกจากสวนไม้ผลเพื่อกู้สวน การเสริมคันดินรอบสวนให้มีความสูงและความแข็งแรง สามารถป้องกันและต้านทานน้ำจากภายนอกที่อาจท่วมล้นเข้าสวนได้ โดยให้ยกขอบแปลงเป็นคันดินสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร จากนั้นขุดคูน้ำรอบ ๆ แปลง แล้วนำดินจากการขุดคูน้ำปั้นเป็นคันดินรอบ ๆ แปลง สำหรับการเร่งระบายน้ำออกจากสวน ให้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกจากสวนได้ตลอดเวลา ทำทางระบายน้ำออกจากสวนไว้หลาย ๆ ทาง ใช้พลั่วดึงเศษพืชและสัตว์ต่าง ๆ ที่ดินเลนทับถมออกให้หมด ขุดร่องระบายน้ำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่เร็วที่สุด ซึ่งหากขุดลึกได้จะช่วยให้ดินในสวนแห้งเร็วยิ่งขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้พนังกั้นน้ำหรือคันดินโอบรอบแปลงปลูกพังทลายลงมา ไม่นำเครื่องจักรกลขนาดหนักเข้าไปในสวนหลังน้ำลด ขณะที่ดินยังเปียก หรือเข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืช เมื่อดินแห้งแล้วควรขุดหรือปาดเอาดิน ทราย เศษไม้หรือตะกอนต่าง ๆ ที่มากับน้ำและทับถมอยู่ในแปลงไม้ผลออก เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานในแปลงไม้ผลต่อไป
3. การค้ำยัน/พยุงต้นไม้ผลที่เอนหรือล้ม ไม้ผลแต่ละชนิดมีความทนทานต่อน้ำท่วมขังต่างกัน หากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะล้มได้ง่าย เนื่องจากพื้นดินอ่อนตัว สำหรับต้นไม้ที่อยู่ใกล้บริเวณทางน้ำไหล ดินอาจถูกน้ำกัดเซาะออกไปได้ ส่วนต้นไม้ขนาดใหญ่เมื่อถูกน้ำท่วมขังนาน รากจะเน่าเพราะไม่มีอากาศหายใจและมีเชื้อโรคเข้าทำลาย ดังนั้น เมื่อน้ำลดแล้วต้องรักษารากไว้ไม่ให้ตาย โดยการตรึงต้นไม้ไม่ให้โยกคลอนด้วยแรงลมที่จะตามมา และค้ำยันต้นด้วยการใช้ไม้ยาว ๆ ค้ำ หรือใช้เชือกผูกตรึงกับต้นไม้ หรือโครงสร้างอาคารที่แข็งแรงไว้อย่างน้อย 3 ทิศทาง เพื่อป้องกันการโค่นล้ม
4. การจัดการสวนไม้ผลหลังน้ำลด เมื่อระดับน้ำในสวนเริ่มลดลงจนสามารถเข้าปฏิบัติงานได้ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การตัดแต่งกิ่งพร้อมกับการฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้แก่ต้น เมื่อดินเริ่มแห้ง ตัดแต่งกิ่ง เอาใบแก่ กิ่งที่ฉีกหัก เหี่ยวเฉา และกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มไม่ได้รับแสงแดดออก และตัดกิ่งขนาดใหญ่ออกบ้างเพื่อลดแรงปะทะจากลมให้ทรงพุ่มโปร่ง ลดการคายน้ำของพืช และเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น หากต้นไม้ยังมีผลติดอยู่ให้ตัดผลออก เพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารที่จะนำไปฟื้นฟูรากและลำต้น นอกจากนี้ ควรช่วยให้ไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้นด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เนื่องจากระบบรากยังไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ อาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 หรือ 16-21-27 ละลายน้ำฉีดพ่น สวนไม้ผลที่ถูกน้ำท่วมนานหลังน้ำลดมักเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ควรป้องกันรักษาด้วยการราด หรือทาโคนต้นด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา หรือใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา หรือปรับปรุงสภาพดินด้วยการโรยปูนขาว หรือโดโลไมท์
5. การปลูกซ่อมแซมสวนไม้ผลที่ประสบอุทกภัย หลังจากน้ำลดหากพบว่า มีต้นไม้ผลที่ยืนต้นตายไปบางส่วนและยังมีส่วนที่เหลือรอดอยู่เกินกว่า 60-70% ของพื้นที่ ให้ใช้วิธีปลูกซ่อมเพื่อทดแทนต้นเดิมที่ตายไป แต่ควรดำเนินการเมื่อดินเริ่มแห้งอย่างระมัดระวัง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา พรวนกลับหน้าดินบริเวณโดยรอบพร้อมกำจัดวัชพืชที่ยังเหลืออยู่ ใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดินให้เป็นกลางป้องกันการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่า โรยปุ๋ยคอน ตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน จึงขุดหลุมปลูก
สำหรับพื้นที่ใดมีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีเหตุอุทกภัย) จะได้รับการช่วยเหลือภายใน 90 วัน โดยยึดหลักตามระเบียบกระทรวงการคลัง