กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนชาวสวนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนช่วง 1 – 4 มี.ค. 64 เฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนให้ระวังพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 1 – 4 มีนาคม 2564 ซึ่งประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกจะมีผลกระทบในวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2564 ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันที่ 2 – 4 มีนาคม 2564 ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้เกษตรกรและประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกหลายชนิดใกล้จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่วนภาคเหนือมีทั้งลำไยและลิ้นจี่ที่ใกล้ออกสู่ตลาด
กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะก่อนและหลังการเกิดพายุฤดูร้อน เพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยในระยะก่อนการเกิดพายุฤดูร้อน ควรดูแลดังนี้1) ขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายได้ และระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย เนื่องจากบางช่วงอากาศจะแห้งมาก เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ 2) เกษตรกรควรปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้ 3) ควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย 4) สำหรับสวนที่เริ่มให้ผลผลิต ควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับจากพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติหรือมีขนาดเล็ก เช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้ เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
ระยะหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน ควรดูแลดังนี้1) สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 2) ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย 3) กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้ราก แตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย 4) หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้
อัจฉรา : ข่าว, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร, มีนาคม 2564
แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนและเตรียมป้องกันผลผลิตเสียหายช่วง 1 – 4 มี.ค. นี้