นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture) ประกอบกับนโยบายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลทางการเกษตร ประกอบกับเทคโนโลยี และแบบจำลองต่างๆ ซึ่งจุดเน้น คือการให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีและ applications ต่างๆ และเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร 2) การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและพัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ และ 3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยสำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร และสะท้อนข้อมูลจากประสบการณ์ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปกำหนดโจทย์หรือประเด็นการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของเกษตรกร
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ธกส. และหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ ศพก. และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมดำเนินการขยายผลงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับ ดีแทค และ เนคเทค เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ ” มีเป้าหมายให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับฟาร์ม 30 แห่ง ใน 23 จังหวัด และได้รับการตอบรับดีจากเกษตรกร ต่อมาในปี 2562 เนคเทคร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทราได้ขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ปลูกผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจ 34 ราย ในทุกอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณร้อยละ 50 รายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิต และลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 20
โดยในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดจัดงาน Kick – off และแถลงข่าว HandySense: Smart Farming Open Innovation โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ในวันที่ 18 มีนาคม 2564 นี้ ณ กรมส่งเสริมการเกษตรโดยมีเป้าหมายจะดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ (เนคเทค) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 นอกจากนี้จะดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไปที่สนใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะควบคู่กันไปด้วย
สำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense เป็นอุปกรณ์ IoT และ application ในการควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วย 4 เซนเซอร์และ 3 ฟังก์ชั่นซึ่งใช้วัดสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และ ควบคุมการให้น้ำสำหรับพืช ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อยร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยซึ่งเกิดจากการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยปัจจุบันมีการติดตั้งอุปกรณ์ HandySense ทั่วประเทศแล้วจำนวน 77 แห่ง และคาดว่าจะขยายเป็น 200 แห่งได้ในปี 2565
“การเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์และค่าใช้สิทธิ์ นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป เกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยได้ในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว