นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ วงเงิน 1,329.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญถึงปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก กำชับให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งเตรียมแผนขับเคลื่อนโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด เน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินโครงการให้ทันกับระยะเวลาที่กำหนด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ควบคู่กับการดำเนินโครงการด้วย
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ มีเป้าหมายในการตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ และดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 400,000 ไร่ เกษตรกร จำนวน 40,000 ราย โดยจะดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ 1) การทำลายพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังและจ่ายค่าชดเชยการทำลายให้กับเกษตรกรหลังตรวจสอบผลการทำลายไปแล้ว 30 วัน 2) การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค โดยจะสนับสนุนท่อนพันธุ์ จำนวนไร่ละ 500 ลำ 3) ใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ในกรณีที่เกษตรกรเจ้าของแปลงไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค เพื่อตัดวงจรการระบาด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ การดำเนินงานโครงการอยู่ในส่วนของขั้นตอนการสำรวจพื้นที่การระบาดและทำลายแปลงที่เป็นโรค เพื่อยืนยันพื้นที่ระบาดจริงที่เป็นปัจจุบัน โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับตำบล จะลงพื้นที่ ปูพรมสำรวจเพื่อชี้เป้า เมื่อพบแปลงที่ระบาดจะแจ้งให้เกษตรกรเจ้าของแปลงดำเนินการทำลายพื้นที่ที่พบโรค พร้อมยื่นความประสงค์ขอรับการสนับสนุนท่อนพันธุ์สะอาด หลังจากนั้นคณะทำงานฯ ระดับอำเภอ/จังหวัด จะส่งข้อมูลขอจัดสรรค่าทำลายและค่าท่อนพันธุ์ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อรวบรวมเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ในกรณีที่เกษตรกรเจ้าของแปลงไม่ยินยอมให้ทำลาย กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำข้อมูลจากคณะทำงานฯ ในพื้นที่แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
สำหรับขั้นตอนการชดเชยการทำลาย ภายหลังจากที่ทำลายแปลงที่ติดโรคแล้ว 30 วัน คณะทำงานฯ ระดับตำบล จะดำเนินการตรวจสอบแปลงอีกครั้ง และส่งข้อมูลให้คณะทำงานฯ ระดับอำเภอ/จังหวัด ส่งข้อมูลผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยทำลายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการตรวจสอบแล้วแจ้ง ธกส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเจ้าของแปลงที่เป็นโรค ส่วนขั้นตอนการสนับสนุนท่อนพันธุ์สะอาด จะมีการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมแปลงพันธุ์สะอาดเพื่อเป็นแหล่งแปลงพันธุ์สนับสนุนให้แก่เกษตรกรและเป็นแหล่งจำหน่ายพันธุ์ในพื้นที่และเกษตรกรใกล้เคียงทั้งร่นระยะเวลาการขนส่ง ได้ท่อนพันธุ์มันสะอาดที่มีคุณภาพ ในราคาย่อมเยา เมื่อผ่านการประเมินจะดำเนินการขึ้นทะเบียนแปลง เพื่อดำเนินการในขั้นตอนการผลิต และส่งมอบท่อนพันธุ์ตามที่ได้รับการจองไว้ต่อไป
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนต่อโรค ซึ่งจะเป็นการควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอความมือเกษตรกรให้เลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดจากแปลงพันธุ์ที่ไม่พบการระบาดของโรค และควรเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคใบด่าง เช่น ระยอง 72 ระยอง 90 KU50 และห้วยบง 60 รวมถึงงดใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 เป็นต้น