ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมงาน The International Horticultural Expo (EXPO 2022 Floriade Almere) ในนามของประเทศไทย โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแม่งานหลัก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ในการเผยแพร่ ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดยุโรป ผ่านการจัดนิทรรศการใน Thailand Pavilion นั้น นับว่าประเทศไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรของไทย และเสน่ห์ความเป็นไทย ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในเบื้องต้นได้มีการทำสัญญาซื้อขายระยะสั้นระหว่าง บริษัท Van Der Arend ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการเกษตรของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และเป็นทั้งผู้ผลิตและนำเข้าต้นไม้จากประเทศไทย กับสวนพูนสินและเครือข่าย สร้างรายได้รวม 6 ล้านบาท ในเวลาเพียง 2 เดือน (มิถุนายน – สิงหาคม 2565) ตลอดจนสามารถนำสินค้าเกษตรแปรรูป ได้แก่ เงาะโรงเรียนนาสารฟรีซดราย ลำไยอบแห้ง กล้วย มัน อบกรอบ เข้าสู่ห้างสรรพสินค้าทั้งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดหมายว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับที่ดี และมีผู้ประกอบการสนใจต่อยอดนำเข้าสินค้าเหล่านี้ไปจำหน่ายต่อไป
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดการเข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน The International Horticultural Expo (EXPO 2022 Floriade Almere) กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานภาคี ต่างร่วมแรงร่วมใจในการส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้ทั้งในด้านการเกษตร ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ผ่าน Thailand Pavilion ซึ่งมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมชมการแสดง ชมสวนไทย ร่วมสนุกไปกับกิจกรรมสาธิตที่หมุนเวียนเป็นประจำทุกเดือน ทำให้นักท่องเที่ยวบางรายเกิดความสนใจและกลับเข้าชมซ้ำ ซึ่งตลอดการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าชม Thailand Pavilion รวมกว่า 3 แสนราย และผลจากความตั้งใจของทุกฝ่ายทำให้ Thailand Pavilion ได้รับรางวัล BRONZE AWARD สำหรับ Official Participants Competition Indoor Presentation โดยตลอดการจัดงานนั้น Thailand Pavilion มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร และจัดร่วมกับหน่วยงานภาคีถึง 8 ครั้ง คือ
นิทรรศการ “Glamorous…Thai Orchids and Air Purifiying plants (Sansevieria)” เสน่ห์กล้วยไม้และไม้ฟอกอากาศ (สกุลลิ้นมังกร)” โดยบริเวณจุดจัดแสดงเน้นการใช้กล้วยไม้สกุลหวาย กล้วยไม้สกุลแวนดา และไม้ฟอกอากาศสกุลลิ้นมังกร ที่มีความสวยงามหลากหลายสายพันธุ์ และโดดเด่นในการฟอกอากาศ ช่วยดูดซับสารพิษ มาประดับตกแต่ง รวมทั้งการเปิดสอนร้อยมาลัยกล้วยไม้ให้นักท่องเที่ยวร่วมสนุก
นิทรรศการ “Everlasting Fruit Season 1” นำเสนอผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออกที่มีชื่อเสียงของประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขนุน แก้วมังกร และผลไม้อื่นๆ ทั้งในรูปผลสด และแปรรูปแล้ว อย่างการอบกรอบ ฟรีซดราย การกวน หรือในรูปแบบชนิดผง เป็นต้น โดยกิจกรรมนี้มีการสาธิตพร้อมแจกข้าวเหนียวมะม่วงให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง
นิทรรศการ “Thai Herbs for Relaxing Life” โดยนำเสนอด้วยพืชสมุนไพร โดยมีฟ้าทะลายโจร พืชสมุนไพรที่คนไทยใช้ในการดูแลสุขภาพมาตั้งแต่โบราณ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ มาจัดแสดง รวมทั้งการให้บริการน้ำสมุนไพรและการนวดแผนไทยแก่นักท่องเที่ยว สร้างความผ่อนคลายหลังการเดินชมนิทรรศการในงานได้เป็นอย่างดี
นิทรรศการ “New selection for good health” นิทรรศการว่าด้วยเรื่องของผัก นำเสนอผ่านการทำเมนูดังของประเทศไทยอย่างต้มยำกุ้ง ซึ่งมีพืชผักไทยเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก หอมแดง มะนาว ผักซีฝรั่ง ต้นผักชี และเห็ดฟาง แค่กลิ่นหอมๆ จากการปรุงอาหาร สามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชิมและเรียนรู้เรื่องผักจากนิทรรศการได้เป็นจำนวนมาก และนอกจากเรื่องของการให้ชิมอาหารแล้ว ในนิทรรศการมีการนำเสนอถึง Future Food เช่น เห็ดแครง หรือแมลงเศรษฐกิจ เช่น จิ้งหรีด ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำหรับทำโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant Based Meat) ทดแทนเนื้อสัตว์ และกำลังเป็นที่สนใจของชาวยุโรปผู้รักสุขภาพ
นิทรรศการ “The Exquisite Thai Fabrics” ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก และกรมหม่อนไหม เพื่อเผยแพร่ผ้าไทย การอนุรักษ์ผ้าไทย และนำเสนอถึงการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมแก่ชาวไทย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยในวันงานนั้นได้มีการเดินแบบผ้าไทย และสาธิตการสาวไหม
นิทรรศการ “Everlasting Fruit Season 2” กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการผลไม้อัตลักษณ์ โดยเปิดให้ทดลองชิมผลไม้ที่ผ่านการปลูกแบบอินทรีย์ เช่น ทุเรียน ขนุน สละ กล้วย ทั้งแบบผลสดและแปรรูป ร่วมกับผลไม้ที่มีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะขาม และกาแฟ GI
นิทรรศการ “Thai Sustainable Design Showcase 2022” ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่แสดงออกถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainable Design) จากนักออกแบบชาวไทย
และนิทรรศการสุดท้ายที่เพิ่งจบไป คือ “Worth of the graceful leafy Thai Ornamental Plant” นำเสนอไม้ดอกไม้ประดับที่มีความสวยงามและมีศักยภาพในการส่งออก เช่น ต้นแก้วกาญจนา ต้นยูโฟร์เบีย ต้นดราแคนน่า ต้นฟิโลเดนดรอน ต้นโฮยา เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีความโดดเด่นในด้านสายพันธุ์ รูปลักษณ์แปลกตา มีความสวยงามเตะตา และหลากสีสันแล้ว บางประเภทยังมีชื่อเรียกและความหมายที่เป็นสิริมงคล เหมาะสำหรับนำไปปลูกประดับบ้านเรือน
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดสหภาพยุโรปในปัจจุบัน รวมถึงในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์นั้น กลุ่มผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับสินค้าเกษตร และมีการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากประเทศไทย ประเภทต้นกล้วยไม้ ได้แก่ สกุลแวนดา สกุลฟาแลนอปซิส สกุลหวาย สกุลบรัสเซีย สกุลออนซิเดียม ประเภทต้นไม้อื่นๆ ได้แก่ ต้นลิ้นมังกร/งาช้าง ต้นพลูฉลุ ต้นสับปะรดสี ต้นโป๊ยเซียน/หยก ต้นโฮยา ต้นฟิโลเดนดรอน ต้นแก้วกาญจนา ต้นลั่นทม และต้นชวนชม หรือผลไม้ไทยบางชนิดอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรผลไม้ที่เป็น Product Champion ของไทย เช่น ทุเรียน มังคุด มะขามหวาน ขนุน ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วงน้ำดอกไม้ และสินค้าแปรรูปแบบฟรีซดราย การจัดนิทรรศการพืชสวนหมุนเวียนจึงเป็นอีกแรงกระตุ้น เพื่อสร้างการรับรู้และเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าเกษตรผ่านนักท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรปได้เป็นอย่างดี