กรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอผลงาน “ศดปช.บ้านลิพอนบางกอกร่วมใจแก้จน”จังหวัดภูเก็ต ในการตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 ลุ้นรางวัลเลิศรัฐ ดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วน ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566 ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการฯ จากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เพื่อคัดเลือกผลงานในระดับดีเด่น ในผลงาน “ศดปช.บ้านลิพอนบางกอกร่วมใจแก้จน” จังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านลิพอนบางกอก ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นผลงานที่ผ่านการตรวจประเมินจากเอกสารในขั้นตอนที่ 1 อยู่ในระดับดีมาแล้ว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลงาน “ศดปช.บ้านลิพอนบางกอกร่วมใจแก้จน” จังหวัดภูเก็ต ของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านลิพอน-บางกอก ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนทุเรียน สวนมังคุด มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยได้ซื้อปุ๋ยเคมีแบบปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ ตามท้องตลาด ประกอบกับการขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย ทำให้มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง รายได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้มีการบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน โดยการจัดตั้งเป็นศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านลิพอนบางกอก (ศูนย์เครือข่าย) และพัฒนาให้เป็นศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) สู่การพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน 1 จังหวัด 1 โมเดลธุรกิจ ( One Stop Service ) มีการวางแผนการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การลดการใช้สารเคมีโดยการหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนา เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ผลงานที่จะสามารถนำไปต่อยอดและเป็นต้นแบบให้นำไปปรับใช้ได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านลิพอนบางกอก สามารถยกระดับความรู้ด้านดินและการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจัดการดินและใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารให้ตรงกับความต้องการของพืช ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการบริหารจัดการศูนย์ร่วมกันเป็นทีม ในรูปแบบคณะกรรมการฯ จนได้รับรางวัลศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) สู่การพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน 1 จังหวัด 1 โมเดลธุรกิจ ดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2564 สามารถให้บริการด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามความต้องการของสมาชิกกลุ่มและสมาชิกเครือข่าย โดยอาศัยการบริหารจัดการกลุ่ม ซึ่งเน้นพัฒนาศักยภาพให้คณะกรรมการและสมาชิกเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ มีคณะทำงานย่อยในแต่ละกิจกรรมรวม 4 คณะ ซึ่งสามารถทำงานทดแทนกันได้ มีการระดมหุ้นในลักษณะสหกรณ์และจัดทำข้อมูลของ ศดปช. ที่มีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้สมาชิกและเกษตรกรเครือข่ายในชุมชนเกิดความมั่นใจ และใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดการรับบริการ เก็บตัวอย่างดินและวิเคราะห์ดิน โดยสามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดินได้จำนวน 19.9 ตัน ในระยะเวลาเพียง 2 ปีส่งผลให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน 1,300,000 บาท สามารถเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนงานด้านดินและปุ๋ยได้ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 128,516.67 บาท/ปี และในปี พ.ศ. 2565 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 241,089.55 บาท/ปี

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านลิพอน-บางกอก สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามบริบทและศักยภาพของพื้นที่ มีการขยายผลการทำเกษตรแม่นยำ โดยการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินออกไปในวงกว้าง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด และทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นพืชแข็งแรง ลดผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการพัฒนาความรู้ ทักษะในการผลิต การสร้างทัศนคติที่ดีในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการสร้างความมั่งคงด้านรายได้และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ข่าวโดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา