ปลัดเกษตรฯ เป็นประธานพิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์แก่เกษตรกร

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร กับ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนาม พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมเทวกุล ชั้น 6 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า การลงนาม MOU ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับ      กรมส่งเสริมการเกษตร ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดร่วมมือด้านวิชาการในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเกษตรแบบ Real Time ผ่านช่องทางโมบาย แอปพลิเคชั่น “ขอฝน” บนโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ การขอรับบริการฝนหลวง การแจ้งข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกร การแจ้งข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน เป็นต้น เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป และเกษตรกรแบบเชิงรุก ให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจในการเพาะปลูกให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุดนั่นเอง โดยจะบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยพัฒนา และพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ทำการตกลงกำหนดขอบเขตความร่วมมือ ในด้านข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล จะมีการแลกเปลี่ยน สนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการน้ำ การดัดแปรสภาพอากาศ ด้านการส่งเสริมการเกษตร ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่ายและประชาชน นอกจากนี้ จะร่วมกันวิจัย พัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร โดยจะมีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักวิจัยของทั้งสองหน่วยงานในการศึกษาดูงาน การฝึกภาคปฏิบัติ การบรรยายเชิงวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านวิชาการ ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ การดัดแปรสภาพอากาศ ด้านการส่งเสริมการเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกร ให้การดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 ให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดต่อไป

             นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้พัฒนาชุดข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ในระบบภูมิสารสนเทศฝนหลวง หรือ ฝนหลวง จีโอแมป (Fonluang Geo-Map) เป็นชุดข้อมูลที่แสดงถึงความต้องการน้ำของพืชตามช่วงเวลาการเพาะปลูกการเจริญเติบโต ปริมาณฝนสะสมรายวัน รายสัปดาห์ ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับบริการฝนหลวง ข้อมูลเชิงพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่มีสภาพการขาดน้ำในดิน หรือมีสภาพคความชื้นในดินอย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ มาร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศประจำวันให้กับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศใช้ประกอบการวางแผนทำฝนประจำวัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับกับภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ได้มีการพัฒนาชุดข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่เช่นกัน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในด้านข้อมูลเกษตรกรและแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรตามช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ที่มีฐานข้อมูลของเกษตรกรจำนวนหลายล้านคน ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร   ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการร่วมมือด้านวิชาการกับกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้เกิดการบูรณาการด้านข้อมูลดังกล่าวขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

     ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมอีกว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร มีการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรทั้งประเทศในรูปแบบดิจิทัล เช่น ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ครัวเรือน รายแปลง ข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล และข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ใช้สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรและการสนับสนุนข้อมูลเกษตรกรดำเนินการโครงการมาตรการภาครัฐ ต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการประกันภัยพืชผล เป็นต้น โดยเห็นว่าหากนำชุดข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรเหล่านี้ มาบูรณาการกับข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ ข้อมูลสภาพอากาศ และเทคโนโลยีการทำฝนหลวง ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะสามารถนำมาใช้ในการกำหนดแผนปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุก พร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มความต้องการน้ำฝน เพื่อเป็นการให้บริการได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และความแห้งแล้ง สาเหตุจากการเกิดเอลนีโญและลานีญา ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ และต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันจะช่วยให้เกษตรกรสามารถแจ้งความต้องการน้ำฝนได้ด้วยตนเอง ตลอดจนได้รับข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ รวดเร็ว และทันสมัย ใช้สำหรับในการวางแผนการทำการเกษตร นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเกษตรกรและภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย